น้ำตาลแล็กโทสคืออะไรนะ - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

น้ำตาลแล็กโทสคืออะไร

แล็กโทสคือน้ำตาลที่พบในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงสามารถพบได้ทั้งในน้ำนมแม่ น้ำนมวัว น้ำนมแพะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมข้น โยเกิร์ต ครีม ไอศกรีม ผู้ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเอนไซม์แล็กเตสออกมาย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้เพียงพอ มักเกิดอาการแล็กโทสไม่ย่อย เช่น อาการอืดท้อง ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หลังรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม

ปริมาณของน้ำตาลแล็กโทสในนม และผลิตภัณฑ์จากนมมีต่างกันไปดังนี้

ผลิตภัณฑ์จากนม ปริมาณแล็กโทส (กรัม)
นมข้น 250 มล. 24
นมวัว (ขาดมันเนย/พร่องมันเนย/ธรรมดา) 250 มล. 12
ไอศครีม 250 มล. 12
นมแพะ 250 มล. 9
ครีม 250 มล. 8
โยเกิร์ต 250 มล. 5
ชีส 250 มล. 1

 

ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเนยและมาการีน พบว่ามีปริมาณแล็กโทสอยู่น้อยมาก

ผู้ที่แพ้น้ำตาลแล็กโทสควรรับประทานอาหารอย่างไร

ในอดีตได้มีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงนม และผลิตภัณฑ์จากนมในผู้ป่วยที่ย่อยแล็กโทสไม่ได้ แต่งานวิจัยใหม่ในปัจจุบันได้แนะนำให้ผู้ป่วยเลือกทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมได้ในปริมาณที่ร่างกายรับไหว เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและสารอาหารที่อยู่ในนมอย่างเพียงพอ

วิธีที่ช่วยให้ร่างกายรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมได้ดีขึ้น

  • ให้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มจนถึงปริมาณที่ร่างกายรับได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย โดยควรเลือกรับประทานนมไขมันเต็มแทนนมขาดมันเนย หรือนมพร่องมันเนย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับได้ดีกว่า
  • หลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง และลองรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมร่วมกับอาหารอย่างอื่น เช่น รับประทานชีสร่วมกับแครกเกอร์ หรือรับประทานนมพร้อมกับซีเรียล แทนการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียว
  • ลองเลือกทานผลิตภัณฑ์จากนมที่มีแล็กโทสตามธรรมชาติอยู่น้อย เช่น ชีส หรือ โยเกิร์ต
  • เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแล็กโทส เช่น นมปราศจากแล็กโทส หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้เอนไซม์แลกเตสสังเคราะห์ โดยต้องทานพร้อมกับเมื่อดื่มนมคำแรก ซึ่งมีข้อเสียคือ เอนไซม์มีราคาแพงกว่าราคานมที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโทสหรือนมถั่วเหลือง

หากลองวิธีข้างต้นหมดแล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนไปรับประทานแคลเซียมจากแหล่งอื่น เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง และผักใบเขียวเข้ม หรือรับประทานแคลเซียมเสริมทดแทน

 

กรรวี ศรีตา
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
ใบอนุญาตเลขที่ กอ.ช.1594
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่