Office Syndrome โรคยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

นพ. ธนยศ มูลละ

ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งโต๊ะทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ไม่ได้ขยับลุกไปไหน บางคนต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายหลายระบบ เช่น มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อจากการนั่งทำงานนาน อาการชาที่มือเนื่องจากการกดทับเส้นประสาทที่มือ ปวดเสียดท้องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา สมรรถภาพของร่างลดลงเนื่องจากไม่มีเวลาออกกำลังกาย ฯลฯ

ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้แก่ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด (Myofascial pain syndrome) ปวดหลังจากท่าทางไม่เหมาะสม (Postural back pain) เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ (Carpal tunnel syndrome) นิ้วล็อค (Trigger finger) นอกจากนี้ระบบอื่นของร่างกายอาจได้รับผลกระทบจากการนั่งทำงานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน ปวดศีรษะจากความเครียด ภาวะอ้วน เป็นต้น

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคทางกระดูกกับกล้ามเนื้อ เพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย

สาเหตุของโรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า งานในออฟฟิศโดยส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องไปยกของหนัก นั่งทำงานในห้องแอร์ ปัญหาเรื่องปวดกล้ามเนื้อน่าจะมีน้อย แต่จริงๆแล้วอาการปวดกล้ามเนื้อของคนที่ทำงานในออฟฟิศเกิดจากการที่ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องอยู่ในท่าเดิมเกือบตลอดเวลา หรือการนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งค้างท่าเดิม และบางส่วนถูกยืดค้าง เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนโดยไม่ได้รับการแก้ไข กล้ามเนื้อบางส่วนจะขมวดเป็นก้อนตึง และทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อได้

ใครที่น่าสงสัยว่ามีอาการโรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน

  • ผู้ที่ต้องทำงานลักษณะเดิมต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน เช่น นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ต่อเนื่อง ไม่ได้ลุกไปไหน หรือนั่งทำบัญชีเร่งด่วนตอนปลายเดือน
  • ผู้ที่มีอาการปวดบริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก หลัง บางครั้งมีอาการปวดร้าวขึ้นศีรษะ หรือร้าวลงแขนขณะนั่งทำงานอยู่ ต้องขยับเปลี่ยนท่าทางจึงจะดีขึ้น
  • อาการปวดสัมพันธ์กับช่วงที่ต้องทำงาน แต่พอช่วงวันหยุดอาการปวดไม่เป็นมาก
  • ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีเวลาว่างออกกำลังกาย

การรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน

หากเป็นแบบไม่รุนแรง อาการเป็นเฉพาะตอนทำงาน วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือการออกกำลังกาย การปรับสภาพที่ทำงาน และการปรับพฤติกรรมการทำงาน
แต่หากอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หรืออาการปวดเกิดขึ้นแม้แต่ตอนที่ไม่ได้ทำงาน นอกจากการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการใช้ยา การใช้วิธีการทางกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด เช่น การทำอัลตร้าซาวด์ลดปวด (Ultrasound diathermy) การใช้เลเซอร์ลดปวด (Laser therapy) การใช้ไฟฟ้าบำบัดลดปวด (Electrotherapy) การใช้คลื่นกระแทก (Shockwave therapy) การรักษาจุดกระตุ้นปวดโดยใช้เข็ม (Trigger point release)

นอกจากนี้แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะให้การประเมิน และแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายบำบัด และการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง
หากยังมีอาการปวดมากแพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาจุดกระตุ้นปวดโดยใช้เข็ม หรือฉีดยาเข้าจุดกระตุ้นปวด เพื่อให้จุดกล้ามเนื้อที่ขมวดเกร็งคลายตัวออก
“โรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน สามารถป้องกันได้โโยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เมาะสม ปรับสภาพการทำงาน และการออกกำลังกายอย่างเสม่ำเสมอ”