สืบเนื่องจากข้อมูลของระดับคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) และจำนวนอนุภาคฝุ่นพิษ (Particulate Matter: PM) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปอย่างมาก เพราะเมื่อมนุษย์สูดมลพิษทางอากาศเข้าไปทางลมหายใจ อนุภาคฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กสามารถลงไปได้ลึกถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของเราได้ ทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ด้วยคุณสมบัติที่เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมและชอนไชผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต จนกระจายแทรกซึมไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดผลร้ายเฉพาะหน้า 3 ประการ คือ
- อาการกำเริบของโรคระบบการหายใจ ได้แก่โรคจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง ทำให้เด็กและผู้สูงอายุมีการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบการหายใจเพิ่มขึ้น
- อาการกำเริบของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
- อาการกำเริบโดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองแม้จะไม่สูบบุหรี่ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น เราจึงต้องมีการป้องกันภัยจากมลพิษทางอากาศโดยวิธีดังต่อไปนี้
- ใส่หน้ากากชนิด N-95 ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถกรองหมอกพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการใส่หน้ากากกระดาษธรรมดานั้นสามารถกรองได้เพียงฝุ่นละอองในอากาศ หรือฝุ่นพิษขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถกรองฝุ่นพิษขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ได้
- งดการออกกำลังกาย หรือการทำงานกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องทำ ควรใส่หน้ากากชนิด N-95 เพื่อป้องกันด้วย
- ใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน จากการวัดค่าคุณภาพอากาศภายในบ้านที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดแล้ว พบว่าค่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี
- ปิดประตู และหน้าต่างอย่างมิดชิด หลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
- ช่วยกันรณรงค์งดการเผา หากพบการเผาขยะ เผาที่นา หรือเผาป่า โปรดช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อดับไฟ
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือแม้แต่ผู้มีโรคประจำตัวทางระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่ามีอาการหายใจเหนื่อย หายใจไม่สะดวก หรือเจ็บแน่นอก ควรรีบนำตัวส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
รวบรวมและเรียบเรียงโดย พญ.จุฑารัตน์ จิโน
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (อาชีวเวชศาสตร์)
ใบอนุญาตเลขที่ ว. 39875
โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่
052-089-817
แพ็กเกจที่แนะนำ
