ดูแล’ดวงตา’ ของคนสำคัญ ให้ห่างไกล……ต้อกระจก - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้สูงอายุในครอบครัวเรา ยิ่งนานวัน ร่างกายยิ่งเสื่อมไปตามวัย ซึ่งอวัยวะหนึ่งซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ และเสื่อมสภาพตามการใช้งานได้ง่ายนั่นคือ ‘ดวงตา’ เมื่อคุณตาคุณยายของเราอายุมากขึ้น สายตาท่านจะเริ่มขุ่นมัว มองเห็นไม่ชัด ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยคือ โรคต้อกระจก

หากสงสัยว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นโรคต้อกระจก ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการผ่าตัดต้อกระจก ให้เร็วที่สุด

  • ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น
  • พบมากในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ประมาณ 50 ปีขึ้นไป
  • ปัจจัยอื่นๆ ส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกก่อนวัย ได้แก่ การได้รับแสงอัลตร้าไวโอเลตเป็นเวลานานๆ โรคม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ความผิดปกติแต่กำเนิด และการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ควรเข้ารับการผ่าตัด ไม่ควรรอจนต้อสุก การผ่าตัดแบบปัจจุบัน ใช้เวลาโดยรวมไม่นานผ่าตัดประมาณ 15-30 นาที และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็สามารถกลับบ้านได้

 

ดวงตาของคนเราก็เปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูปที่มีเลนส์อยู่ด้านใน เมื่อใช้งานไปนานๆ เลนส์ก็เกิดการขุ่นมัว เมื่อขุ่นมากจะทำให้มองเห็นไม่ชัด เป็นความเสื่อมตามวัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ต้อกระจก” เป็นโรคที่เกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านไปยังประสาทตาไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัวได้

 

สาเหตุของโรค

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดต้อกระจกคือ อายุที่เพิ่มขึ้น พบมากในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ประมาณ 50 ปีขึ้นไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ ส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกก่อนวัย ได้แก่ การได้รับแสงอัลตร้าไวโอเลตเป็นเวลานานๆ โรคม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ความผิดปกติแต่กำเนิด และการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์

 

อาการที่เกิดขึ้น

ผู้สูงอายุจะมีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน โดยไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้น เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา

ควรรักษาให้เร็วที่สุด

การรักษาต้อกระจก ขึ้นอยู่กับสภาพของต้อกระจกกล่าวคือ ต้อที่เพิ่งจะเริ่มเป็นหรือเป็นไม่มาก ให้ตรวจตาตามที่แพทย์นัด แต่ในรายที่ต้อกระจกขุ่นมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน เช่น การขับรถ อ่านหนังสือ ดูทีวี ฯลฯ ควรได้รับการผ่าตัด ไม่ควรรอจนต้อสุกเพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ การผ่าตัดทำได้โดยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธี

  1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification) ป็นการผ่าตัดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

เนื่องจากไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยสามารถเลือกดมยาสลบหรือหยอดยาชา และยังใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้น ไม่นาน สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด และยังสามารถผ่าตัด 2 ข้างได้พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยและการพิจารณาของแพทย์ โดยหลังการผ่าตัด ยังต้องใส่ฝาครอบตา และมาพบแพทย์เพื่อเปิดตาในเช้าวันรุ่งขึ้น

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบแบบเปิดแผลกว้าง (extracapsular cataract extraction) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกแข็งมากๆ จนไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่อง ซึ่งต้องเย็บประมาณ 3-7 เข็ม

 

 

นายแพทย์ประวิทย์ สัจจพงษ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา

แผนกจักษุ | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่