คุณหลับพักผ่อนเพียงพอแล้วหรือยัง? - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

นอนหลับอย่างไรให้ดี – นอนหลับที่ดีต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพ

  • ปริมาณที่ต้องการในวัยทำงาน คือ 7-8 ชั่วโมง
  • คุณภาพที่ดีคือการหลับต่อเนื่อง เป็นวงจรปกติตามธรรมชาติ ไม่ตื่นกลางดึกบ่อยๆ

คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่

  • นอนกรน
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่ายมาก
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ
  • รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  • ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  • ง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน

คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคนอนกรนหยุดหายใจก็เป็นได้

OSA คืออะไร

  • โรคนอนกรนหยุดหายใจ หรือ OSA : Obstructive Sleep Apnea
  • คือ โรคที่เกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ในขณะที่เรานอนหลับ โดยอาจหยุดหายใจตั้งแต่ 10 วินาที – 2 นาทีก็เป็นได้
  • คนในวัยผู้ใหญ่มีอาการหยุดหายใจได้ในขณะหลับ แต่ไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา

ใครเสี่ยง OSA บ้าง

  • พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ
  • ผู้ชาย – เสี่ยงมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า
  • ผู้หญิงวัยทอง – เสี่ยงมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน เพราฮอร์โมนเพศหญิง (ที่ช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนตัว) นั้นมีปริมาณลดลง
  • สูบบุหรี่ / ดื่มแอลกอฮอล์

OSA มีผลต่อร่างกายเราอย่างไร

  • ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ
  • ทำให้รู้สึกง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เกิดปัญหาการเรียนตกต่ำ ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ
  • นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคอ้วนอีกด้วย

วิธีวินิจฉัย

แนะนำให้ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab) เพื่อแยกว่าท่านเป็นนอนกรนประเภทใดและสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือน้อยเพียงใดเพื่อช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น

ใครบ้างควรตรวจ Sleep lab

    • ในผู้ใหญ่ Sleep Lab ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
      • ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น
      • ปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ
      • รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย
      • ง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวันจนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน ขณะขับรถ ในห้องเรียน ในที่ประชุม ขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือดูโทรทัศน์
      • นอนหลับไม่ราบรื่น นอนกระสับกระส่ายมาก
      • หายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
      • สะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
      • ความดันโลหิตสูง ซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
      • ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ พัฒนาการทางสมอง สติปัญญา และความจำแย่ลง
      • ตื่นนอนกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือปัสสาวะกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุอื่น
    • ในเด็ก Sleep Lab ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
      • เด็กที่มีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ
      • เด็กที่ไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่ายหรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลา
      • เด็กที่ปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
      • เด็กที่ผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ พัฒนาการทางสมอง และสติปัญญา และความจำแย่ลง
      • เด็กอายุขวบปีแรกที่สงสัยว่าเวลานอนหลับอาจมีช่วงหยุดหายใจ มีความผิดปกติของช่องปาก จมูก ลำคอ
      • เด็กที่มีอาการนอนกรน หรือหายใจลำบากเวลานอน ด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิ ต่อมทอลซิล-เอดีนอยด์โด หลอดลมตีบแคบเนื่องจากสาเหตุต่างๆ

    วิธีรักษา – แนวทางการรักษาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับอาการเฉพาะบุคคลไป ซึ่งประกอบด้วย

    การปรับพฤติกรรมเสี่ยง

    • การลดน้ำหนักตัว จากการศึกษาวิจัย พบว่า การลดน้ำหนักลงแม้เพียงแค่ 10 % ก็สามารถลดจำนวนครั้งของการหยุดหายใจในขณะนอนหลับลงได้บ้าง
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายระหว่างนอนหลับ และยังทำให้การหยุดหายใจนานขึ้น
    • พยายามนอนในท่าตะแคงจะช่วยลดความรุนแรงได้บ้างในบางราย
    • ผู้ป่วยที่มีปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากปัญหาไซนัสหรือมีอาการคัดจมูก การใช้สเปรย์พ่นจมูกหรือยาลดอาการคัดจมูก จะสามารถช่วยให้การหายใจในขณะหลับสะดวกมากขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการอดนอน

    การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกในทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure, CPAP)

    เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยคงสภาพทางเดินหายใจให้เปิดโล่ง โดยการสร้างแรงดันอากาศเข้าไปเปิดทางเดินหายใจของเราตลอดเวลา CPAP เป็นวิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยผู้ป่วยจะต้องใส่อุปกรณ์หน้ากาก ครอบจมูกหรือปาก แล้วเครื่องจะทำการปรับแรงดันให้สูงพอ ที่จะเป่าอากาศให้ไหลผ่านลงไป ป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงในขณะนอนหลับอย่างต่อเนื่อง

    การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD)

    สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่รุนแรง การใช้ MAD จะช่วยดึงกรามล่างมาด้านหน้าเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังกว้างขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับได้

    การรักษาด้วยการผ่าตัด

    • Somnoplasty เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่ จี้ความร้อนเข้าไปใต้เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานปาก หรือลิ้นไก่ เพื่อเพิ่มทางเดินหายใจ
    • Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) คือ การผ่าตัดที่ตัดเนื้อเยื่อ ทอนซิล ลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกไป เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างมากขึ้น
    • Mandibular/maxillary advancement surgery คือ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้ามาก
    • Nasal surgery คือ การผ่าตัดในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum)

    ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังจากการตรวจ แพทย์จะเป็นผู้เลือกการรักษาที่เหมาะสมให้กับแต่ละคน ขึ้นกับผลตรวจการนอนหลับและลักษณะของคนไข้

    สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์คุณภาพการนอนหลับ
    ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ โทร: 052-089-862