“บำบัดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก” ทางเลือกใหม่รักษาโรคซึมเศร้า - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

Paralysis

ข่าวดี! สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทย มาอัพเดตเทรนด์และนวัตกรรมการรักษาโรคซึมเศร้าแบบใหม่ที่เป็นที่นิยมในโลกตะวันตก  นั่นคือการการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ (Transcranial Magnetic Stimulation) หรือที่เรียกว่า TMS  ที่รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาท ฟื้นฟูปรับการทำงานของสมอง เป็นวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่สะดวกรวดเร็ว สามารถเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ได้เลย ปัจจุบันเริ่มมีการนำเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทยแล้ว

เราทราบกันดีว่านวัตกรรมการรักษาโรคทางสมองและโรคระบบประสาท ได้มีพัฒนาการไปอย่างมาก ในสหรัฐอเมริกาการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทด้วยวิธี TMS ทำให้ผู้ป่วยได้รับความพึงพอใจเนื่องจาก ไม่ยุ่งยาก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปภายในร่างกาย เช่น ไม่ต้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องฝังสายไฟ ไม่มีการดมยาสลบ มีความปลอดภัยสูง สมอง และอวัยวะของร่างกาย แทบจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ หรือหากกระทบก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อพบแพทย์ทำการรักษาแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันที

 

การใช้คลื่นแม่เหล็กทำการกระตุ้นสมองบริเวณที่เกิดโรค หรือกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ TMS นั้น เป็นการสร้างสนามแม่เหล็กที่มีกำลังสูง และนำคลื่นแม่เหล็กจากสนามแม่เหล็ก ไปทำการวินิจฉัยและรักษาโรคทางสมอง ระบบประสาท  นอกจากใช้กับโรคซึมเศร้าแล้ว ยังใช้กับผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่สาเหตุเกิดจากสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้การทำงานของสมองหยุดชะงักลง จนทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนแรงลง ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ต้องใช้ชีวิตโดยขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งด้านการพูด การกลืนอาหาร ฯลฯ รวมถึงอาการที่มีผลต่อสภาวะทางจิตใจ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง  รวมทั้งโรคไมเกรน โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน รวมไปถึงอาการปวดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสมอง ได้อีกด้วย

 

ทำไมแพทย์จึงแนะนำให้คนไข้เลือกใช้ TMS

ผู้ป่วยที่เข้าข่ายและสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธี TMS มีลักษณะอาการดังนี้

  1. ใช้รักษาลักษณะอาการหลักของผู้ป่วยต่อไปนี้
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในขั้นไม่ตอบสนองต่อยาต้านอาการซึมเศร้าแล้ว (Resistant Stimulation)
  • ผู้ป่วยไมเกรน ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนแบบมีอาการนำ (Migraine with aura)
  • ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive Disorder)
  1. ใช้รักษาผู้ป่วยประเภทอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท

- มีอาการบาดเจ็บสมองและไขสันหลัง (Damaged Brain on Spinal Cord)

- มีอุบัติเหตุและสมองบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)

- เป็นอัมพฤกษ์ หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก (Post Stroke Hemiparesis)

- เด็กที่มีอาการพิการทางสมอง (Cerebral palsy) เช่น มีอาการเดินเซ (Ataxia) การพูดผิดปกติ
(Aphasia) การพูดติดอ่าง (Stuttering) การกลืนผิดปกติ (Dysphagia)

- เป็นโรคลมชัก (Epilepsy)

- มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติคล้ายโรคพาร์กินสัน (Parkinsonism)

- มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Fibromyaligia) อาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain)

- มีสาเหตุการปวดมาจากปลายประสาท (Neuropathic Pain)

  • ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชบางประเภทที่มีอาการหลากหลาย เช่น

- ป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) เช่น มีภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) มีอาการประสาทหูหลอน (Auditory hallucination) หรือถึงกับคิดฆ่าตัวตาย (Suicidal Idea)

- ผู้ป่วยที่ติดบุหรี่ (Tobacco Addiction) ติดยาเสพติด (Drug Addiction)

- ผู้ป่วยที่พฤติกรรมการรับประทานที่ผิดปกติ (Eating Disorder)

- ผู้ป่วยเป็นโรคออติสติก (Autism) ผู้ป่วยที่มีสมาธิสั้น (Attention Deficits)


หากสนใจรักษาด้วย TMS ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

  1. แพทย์เริ่มต้นการรักษาด้วยการประเมินตำแหน่งที่จะกระตุ้นสมองของผู้ป่วย
  2. ตรวจสอบเพื่อหากำลังคลื่นไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับการรักษา (Motor Threshold)
  3. เมื่อขั้นตอนตามข้อ 1 และข้อ 2 ครบถ้วนแล้ว จะเริ่มด้วยการวางตำแหน่งเครื่องกระตุ้น โดยการกระตุ้นเป็นจังหวะ ซึ่งจะมีเสียงคลิก พร้อมกับผิวหนังที่อยู่บริเวณใต้เครื่องกระตุ้น จะรู้สึกได้ว่าถูกแตะเบา ๆ โดยไม่เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ
  4. ใช้เวลารักษาประมาณ 30 – 60 นาที โดยจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนครั้งในการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ TMS จะขึ้นอยู่กับโรคที่เข้ารับการรักษา

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารักษาด้วยวิธี TMS

  • ไม่ควรมีอาการบาดเจ็บหรือมีแผลบริเวณที่จะกระตุ้น
  • ไม่มีประวัติอาการชักมาก่อน
  • ไม่มีประวัติเลือดออกง่าย
  • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ

ข้อห้ามในการรับรักษาด้วยวิธี TMS

  • ต้องไม่มีอุปกรณ์ฝังในร่างกาย เช่น Permanent Pacemaker, Defibrillators, Dochlear implant, Deep brain stimulators, Ocular implants, Vagus nerve stimulators, Implanted medication pumps, Intracardiac lines
  • ต้องไม่ใส่วัสดุโลหะใด ๆ บริเวณศีรษะ เช่น Aneurysm clips or Stent, Metallic hair clips หรือกิ๊บติดผมชนิดโลหะ

การรักษาด้วยวิธีกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ หรือ TMS นั้น เป็นวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า สามารถใช้รักษาอาการป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือต้องมีการดูแลติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเป็นผลดี ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค และสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพแข็งแรงได้ตามปกติต่อไป

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ.ณดลพร ยุวศิลป์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท

ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่