รู้จัก “โรคเอ็มเอส” ภัยร้ายเงียบของคนวัยทำงาน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

หลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อโรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง มากเท่าใดนัก เพราะเป็นโรคที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น โรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทตา ฯลฯ เนื่องมาจากเม็ดเลือดขาวหลั่งสารที่เข้าไปทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาท ทำให้ระบบประสาทได้รับความเสียหาย ดังนั้น การวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก มาทำความรู้จักกับกลุ่มโรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลางกันไว้ดีกว่า เพื่อที่จะช่วยป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างทันท่วงที

 

Devic's Disease

โรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลางคืออะไร

โรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง (Demyelinating Disease) เป็นกลุ่มโรคที่ทำลายมัยอิลิน มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นรอยโรคที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยมัยอิลิน (Demyelination) คือองค์ประกอบส่วนใหญ่ของส่วนเนื้อขาว (White Matter) ของสมองและไขสันหลัง เมื่อมีการทำลายมัยอิลิน ก็จะเห็นอาการที่เรียกว่ารอยโรคได้อย่างชัดเจน ที่บริเวณระบบประสาทส่วนกลาง คือส่วนสมองใหญ่ สมองน้อย ก้านสมอง และไขสันหลัง โดยรอยโรคที่เห็นจะมีทั้งรอยเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป หรืออาจเกิดเป็นรอยขนาดใหญ่ ก็ได้เช่นกัน

โรคในกลุ่มปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง อย่างเช่น โรคมัลติเพิล สเคลอโรสิส (Multiple Sclerosis : MS) กลุ่มโรคนิวโรมัยอิลัยติส ออพติกา (Neuromyelitis Optica Spectrum Disorder : NMOSD) และโรค Acute Disseminated Encephalomyelitis : ADEM โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน แต่เบื้องต้นพบว่ามาจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยเฉพาะเซลล์ลิมโฟไซต์ ชนิด T-lymphocyte และ B-lymphocyte ที่ตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ภาวะพร่อง หรือภาวะขนาดวิตามินดี ฯลฯ

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อในระบบประสาทส่วนกลางอักเสบ จนไปทำลายมัยอิลิน และใยเส้นประสาท จนถึงเซลล์ประสาท ถึงแม้ว่าจะมีการพบโรคในกลุ่มปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลางไม่บ่อยนักก็ตาม แต่ก็พบการเกิดโรคในลักษณะนี้ซ้ำ ๆ จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถึงกับเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพ หรือถึงขั้นพิการ ซึ่งแน่นอนว่าการเริ่มต้นด้วยขั้นตอนการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการวางแผนรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถช่วยชะลอการสะสมรอยโรค และลดความพิการได้ในระยะยาว

 

กลุ่มโรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง ที่พบบ่อย

 

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis : MS) หรือโรคเอ็มเอส

เป็นโรคในกลุ่ม Demyelinating Disease ที่พบได้บ่อยที่สุด อาการของโรคเกิดจากมีการกระตุ้น T-lymphocyte ในร่างกาย ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ และนำให้ Inflammatory Cell มารวมกัน และหลั่งสาร Cytokine เข้าไปทำลายปลอกของมัยอิลิน ส่วนใหญ่จะพบที่เส้นประสาทตา ไขสันหลัง ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบ แล้วทุเลาลดลงสลับกัน แล้วอาการก็กลับมาเกิดวนซ้ำอีก ซึ่งในช่วงแรก ๆ อาจจะหายกลับมาเป็นปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเข้าสู่ระยะรุดหน้า จนอาการมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นพิการ และทุพพลภาพได้ในที่สุด โดยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส มักจะพบได้ในกลุ่มคนผิวขาว ที่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น มีอายุประมาณ 20 - 40 ปี และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 

โรค Neuromyelitis Optica Spectrum Disorders : NMOSD หรือโรคเดวิก Devic's Disease

เป็นโรคที่พบในคนไทยได้บ่อยกว่าโรคเอ็มเอส จัดอยู่กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune Disease) โดยโรค NMOSD เกิดจากการสร้าง Antibody ที่เกิดกับอะควาพอริน ชนิดที่ 4 (Aquaporin-4 : AQP4) ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบ จนส่งผลให้มัยอิลินเสียหาย โดยจะเริ่มจากความผิดปกติบริเวณเส้นประสาทตา ไขสันหลัง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อาการของโรค NMOSD จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่จะเร็วและรุนแรง โดยโรค NMOSD สามารถเกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว จะเป็นได้ตั้งแต่น้อยไปถึงมาก และทำให้ร่างกายค่อย ๆ สะสมความพิการตามจำนวนการกำเริบที่รุนแรงของโรค

 

โรค Acute Disseminated Encephalomyelitis : ADEM

ลักษณะโรคจะเกิดการอักเสบ และพบการทำลายมัยอิลิน กระจายไปทั่วสมองและไขสันหลัง โดยมักจะมีอาการหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัส หรือหลังจากที่มีการฉีดวัคซีน ไปแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปจะมีระยะฟักตัวประมาณ 4 - 12 วัน โดยผู้ป่วยโรค ADEM จะเริ่มจากมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ค่อย ๆ ซึมลง บางรายอาจจะมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง รวมทั้งอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง เพิ่มขึ้นมาด้วย ผู้ป่วย ADEM ส่วนใหญ่อาจจะหายดีขึ้นจนเป็นปกติ หรือมีความพิการบางส่วนหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยรายที่ป่วยเป็นโรคหัดหรือโรคอีสุกอีใสมาก่อน ส่วนผู้ป่วยรายที่เกิดอาการสมองบวมมาก อาการอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะของโรค ADEM นั้น มักจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบได้ทั้งเพศหญิงและชายเท่า ๆ กัน

ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง (Demyelinating Disease) ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการผิดปกติแบบเฉียบพลัน คือ อาการจะเกิดขึ้นเร็ว ช้าสุดใช้เวลาเป็นวัน หรืออาจจะเกิดอาการภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และอาการแบบเฉียบพลันนั้น อาจจะค่อย ๆ ทุเลาจนกลับมาปกติเหมือนเดิม หรือเกือบปกติเท่าเดิม แล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ส่วนผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส ส่วนใหญ่จะเกิดอาการแบบรุดหน้า คือ อาการจะค่อย ๆ หนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะเกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลานานเป็นเดือน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ป่วยควรจะต้องได้รับการวินิจฉัย และได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการกำเริบของโรคปลอกประสาทของระบบประสาทส่วนกลางในอนาคต หากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที เพื่อที่จะได้รับการรักษา และลดความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก
พญ.ขนิษฐา สุวรรณศรีนนท์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท
ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่