การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานช่วงถือศีลอด - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

การถือศีลอด ในด้านศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม หมายถึง การละเว้นจากการกิน ดื่ม การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา และการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนา (เนียต) เพื่อพระองค์อัลลอฮฺ  เท่านั้น

            ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวมุสลิมจะมีการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเปลี่ยนจาก 3 มื้อต่อวัน เป็นเหลือ 2 มื้อ คือ มื้ออาหารเย็น (มื้อละศีลอด รับประทานหลังตะวันตกดิน) และมื้อก่อนรุ่งอรุณ (มื้อก่อนตะวันขึ้น)

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการถือศีลอด ควรรับการตรวจสุขภาพกับแพทย์เฉพาะทางโรคเบาหวาน ก่อนที่จะทำการถือศีลอด เพื่อประเมินความสามารถในการถือศีลอด เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวมุสลิม จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของการบริหารยา (Dosing schedule) ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้เหลือ 2 มื้อ ผู้ป่วยที่รับประทานยาวันละ 3 ครั้ง จึงต้องปรับลดยาลงให้เหลือวันละ 2 ครั้ง ตามเวลาการรับประทานอาหาร

ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงและไม่ควรถือศีลอด ได้แก่ ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคเบาหวานตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี หรือฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง มีโรคแทรกซ้อนโรคเบาหวานค่อนข้างรุนแรง มีประวัติเคยเกิดระดับน้ำตาลต่ำบ่อยๆ มีภาวะไตวาย เป็นต้น ในกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มเสี่ยงนี้ต้องการถือศีลอด ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและพร้อมที่จะหยุดการถือศีลอดตลอดเวลาเมื่อแพทย์แนะนำ มิฉะนั้นจะเกิดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อสุขภาพได้

 

diabetes during ramadan

 

 

การปฏิบัติตัวในขณะถือศีลอดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

  1. ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจนเกินไป ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ตรวจวันละหลายครั้ง ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเมื่อรู้สึกไม่สบาย หรือสงสัยว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ
  2. การรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และการออกกำลังกาย ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีปริมาณแป้งหรือปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูงมากเกินไป โดยเฉพาะมื้อพระอาทิตย์ตกดินควรรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) ในมื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้นให้สายที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อลดระยะเวลางดอาหารให้สั้นที่สุด หลีกเลี่ยงขนมหวานหรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง รวมทั้งเครื่องดื่มรสหวานและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดิน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ออกแรงมาก ๆ หรือออกกำลังกายหนักในช่วงถือศีลอด โดยเฉพาะก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
  3. การปรับยาโรคเบาหวานในขณะถือศีลอดควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้รักษาและผู้เป็นโรคเบาหวาน โดยแพทย์จะพิจารณาถึงชนิดของโรคเบาหวาน รวมทั้งชนิดและปริมาณของยาที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละรายใช้ และปรับให้เหมาะสมกับเวลารับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปในเทศกาลถือศีลอด

 

ผู้ป่วยเบาหวานควรหยุดถือศีลอดทันทีในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ระดับน้ำตาลต่ำในเลือด น้อยกว่า 70 มก/ดล. ให้ปฏิบัติตามการแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยดื่มน้ำผลไม้ครึ่งแก้วหรือลูกอมรสหวาน 2 เม็ด และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดซ้ำภายหลัง 15 นาที
  2. ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มากกว่า 300 มก/ดล. หรือมีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน ให้รีบมาพบแพทย์

 

พยาบาลลักขณา เทศเปี่ยม

พยาบาลประสานงานโรคเบาหวาน โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่