ผู้ป่วยโรคเบาหวาน กิน ดื่ม อย่างไร ในช่วงถือศีลอด - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

Family Eating On Ramadan Kareem

 

ปกติการรับประทานอาหารในช่วงรอนฎอน จะรับประทานเพียง 2 มื้อ คือ มื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและมื้อเย็นหลังพระอาทิตย์ตก ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นผู้ถือศีลจะหยุดรับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ (รวมถึงไม่กลืนน้ำลาย) จนถึงพระอาทิตย์ตก เมื่อพระอาทิตย์ตกแล้วจึงเริ่มรับประทานอาหารได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มโดยรับประทานอินทผลัม 3 ผล จากนั้นจะตามด้วยมื้ออาหาร ผู้ถือศีลอดจะได้รับการปรับยาเบาหวานให้เหมาะสมกับช่วงถือศีลอด เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำและภาวะน้ำตาลสูง

สาเหตุที่เลือกรับประทานผลอินทผลัมหลังพระอาทิตย์ตก เนื่องจากอินทผลัมเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง สามารถให้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว (อินทผลัม 3 ผล มีคาร์โบไฮเดรตใกล้เคียงกับข้าวสวย 1 ทัพพี หรือเท่ากับ 1 คาร์บ) ซึ่งนอกเหนือจากช่วงเวลาถือศีลอดแล้ว แนะนำให้รับประทานผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าผลไม้รสหวานหรือน้ำผลไม้

            ช่วงเวลาการรับประทานอาหารในมื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ควรรับประทานให้เวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวันที่ถือศีลอด อาหารที่เลือกรับประทานควรเลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเลือกกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ หมวดข้าว แป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอรรี่ ขนมปังโฮลวีต ธัญพืช ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม อาหารรสหวานจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและอาหารไขมันสูง และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

 

*แหล่งอ้างอิง   แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560

 

นุจีจันทร์ บุญญาพัฒนาพงศ์

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่