ตรวจสุขภาพหลังหายโควิด-19 เพื่อ “ปอดฟิตแอนด์เฟิร์ม” - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ตรวจสุขภาพหลังหายโควิด-19

เพื่อปอดฟิตแอนด์เฟิร์ม

ข่าวดี! (ที่อาจจะพอจะมีอยู่บ้าง) สำหรับผู้ป่วยที่หายจากอาการโควิด-19 แล้ว!

ท่านสามารถตรวจเช็คร่างกายเพื่อประเมินในเบื้องต้นและสามารถวางแผนฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาฟิตแอนด์เฟิร์ม พร้อมกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้อย่างมั่นใจ แถมยังคงความแข็งแรงของปอด หรือประคับประคองสมรรถภาพปอดไม่ให้เสื่อมลงไปตามกาลเวลา เพราะหากร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมาทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือต้องลาหยุดเป็นพักๆ ไปจนถึงอาจก่อให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า กลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ในที่สุด

 

อาการหลังหายจากโควิด

เป็นที่รู้กันว่าการติดเชื้อโควิด-19 นั้น เชื้อสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติได้ในหลายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น ปอด หัวใจ สมอง ไต ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น โดยในผู้ป่วยแต่ละรายจะเกิดความผิดปกติในระบบต่างๆ แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วระบบทางเดินหายใจมักจะเป็นระบบที่ถูกจู่โจมได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยบางรายที่แม้หายแล้วแต่ยังคงเหลืออาการบางอย่าง เช่น อาการไอ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ หายใจเสียงหวีด เนื่องจากเชื้อไปทำลายเนื้อปอดจนทำให้เกิดการอุดตัน หรือ ขยายตัวของหลอดลมผิดปกติ เพราะเริ่มเกิดพังผืดในปอด ลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือมีภาวะความดันหลอดเลือดในปอดสูง  ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

ทางด้านหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่แพ้กัน เชื้อโควิด-19 ที่เข้าไปในร่างกายอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ อักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในบางรายอาจเกิดอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ อ่อนแรงแขนขา ชา หรือ หน้าเบี้ยว ซึมลง อาการทางระบบอื่น ได้แก่ ไตวาย ลำไส้อักเสบ ไปจนถึงอาจก่อให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า เป็นต้น

 

การตรวจเช็คร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19

การตรวจเช็คร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำโดยการประเมินดังกล่าวควรทำภายหลังการติดเชื้อหายแล้วอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลข้างเคียงเหล่านี้ว่าเกิดขึ้นกับร่างกายของเราหรือไม่ อย่างไร

อ้างอิงจากแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศอังกฤษในปี 2020 ได้แนะนำให้ทำการประเมิน ดังต่อไปนี้

  1. อาการทั่วไปและอาการที่ผิดปกติภายหลังจากที่หายจากการติดเชื้อ
  2. ภาพรังสีปอด หรือ ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของเนื้อปอด
  3. การตรวจวัดสมรรถภาพปอด
  4. การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต ชีพจร ภายหลังการเดิน 6 นาที
  5. การประเมินความต้องการในใช้ออกซิเจนในระยะยาวของผู้ป่วยแต่ละคน
  6. การประเมินแนวทางการกายภาพบำบัดของปอด
  7. การเฝ้าติดตามการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอด
  8. การประเมินทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
  9. การประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยภายหลังการติดเชื้อ
  10. การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

 

ผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 แล้วจึงควรมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดภายหลังจากที่หายขาดจากการติดเชื้อ เพื่อค้นหาและรักษาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

พญ. ชัญญา ชมเชย

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ

แผนกอายุรกรรม | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่