การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานช่วงรอมฎอน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ramadan_2021

ในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน - 12 พฤษภาคม จะมีการงดรับประทานอาหาร รวมถึงน้ำ และยารักษาโรค ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตก

ความเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวานที่ถือศีลอด

อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหาร หรือ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากการรับประทานอาหารปริมาณมากหลังพระอาทิตย์ตก และจากการงดยาเบาหวาน หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งทำให้เกิดอันตรายได้

ดังนั้น ผู้ป่วยควรเตรียมตัวก่อนเริ่มถือศีลอด และควรทราบวิธีการปฎิบัติตัวระหว่างถือศีลอด ทั้งนี้ควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงว่าสามารถถือศีลอดได้หรือไม่ เมื่อแพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยแข็งแรง ควบคุมน้ำตาลได้ดีในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีภาวะน้ำตาลต่ำบ่อยๆ หรือ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานรุนแรง จึงจะสามารถถือศีลอดได้

เนื่องจากช่วงถือศีลอดจะรับประทานอาหารเพียง 2 มื้อ คือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหลังพระอาทิตย์ตก ดังนั้นผู้ป่วยควรแบ่งพลังงานให้เท่าๆ กันในทั้ง 2 มื้อ และอาจมีอาหารว่าง 1-2 มื้อถ้าจำเป็น

 

diabetes-control-during-ramadan

โดยมีคำแนะนำในช่วงดังกล่าว ดังนี้

  1. ควรรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำและมีกากใยสูง ควรรับประทานผักและผลไม้สด และดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง หรือไขมันสูง หลีกเลี่ยงขนมหวาน และเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำหวาน
  2. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังอย่างหนัก เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ตก
  3. ผู้ป่วยควรพบแพทย์ เพื่อปรับยาลดน้ำตาลในช่วงถือศีลอด ยาบางชนิดต้องปรับลดขนาดลงในช่วงถือศีลอด และปรับเวลาในการกินยาให้เหมาะสม ในผู้ป่วยที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรลดขนาดยาลงและปรับเปลี่ยนเวลาฉีดให้เหมาะสมกับมื้ออาหาร ซึ่งแตกต่างไปในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์
  4. ผู้ป่วยควรเรียนรู้การตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก/ดล. หรือมากกว่า 300 มก/ดล. หรือเกิดภาวะเจ็บป่วย ภาวะขาดน้ำ ควรหยุดถือศีลอดทันที

การพบแพทย์เพื่อปรึกษา "แผนกอายุรกรรม" และเตรียมตัวก่อนการถือศีลอดให้พร้อม จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานถือศีลอดได้อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง หรือภาวะเลือดเป็นกรดได้

 

พญ.อุษณีย์ ดำรงพิพัฒน์กุล

อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่