สมองเด็ก vs. สมองผู้ใหญ่ ความเสี่ยงในสถานการณ์ PM 2.5 - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ก่อนอื่น มาดูกันค่ะว่า PM 2.5 ทำลายสมองของคนเราอย่างไร?

· นอกจากมีผลกระทบต่อทางเดินหายใจแล้วเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือด เข้าไปสร้างความอันตรายแก่ร่างกายด้วยการทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง การพาออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆ แย่ลง ก่อให้เกิดโรคหัวใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ตาม

· เกิดกระบวนการสร้าง “สารอักเสบเรื้อรัง” ซึ่งสารเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่สมองได้

· ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าฝุ่นพิษ PM2.5 ยังผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่เหนือโพรงจมูก ตรงเข้าสู่สมองโดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบในสมองขึ้น เกิดโรคทางสมองต่างๆ ตามมา ร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะอัมพาตหรืออาจเสียชีวิตได้ ความรุนแรงนี้จะขึ้นกับปริมาณฝุ่นที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้สัมผัสฝุ่นดังกล่าว

เราพบว่า PM 2.5 นี้มีอันตรายกับสมองของคนเรา ทั้งในเด็กและในวัยผู้ใหญ่

ในเด็กๆ ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 นี้มากเข้าจะส่งผลต่อความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (Intelligence Quotient) หรือ IQ ทำให้ IQ ของเด็กเหล่านั้นลดลง ทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้มากขึ้นราว 70% รวมทั้งอาจมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ

ในสมองผู้ใหญ่นั้น พบว่า PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสมองหรือโรคทางสมองต่างๆ มากขึ้น อาทิ

1. เนื้อสมองสีขาวน้อยลง จากการศึกษาพบว่า คนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีค่า PM2.5 ในปริมาณสูงกว่า จะมีปริมาณเนื้อสมองสีขาวน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเนื้อสมองของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 ในระดับต่ำกว่า

เนื้อสมองสีขาวของคนเรานั้นประกอบไปด้วยเส้นใยประสาทมากมาย เนื้อสมองที่ลดลงนั้นพบในสมองส่วนหน้า (frontal lobe), สมองส่วนขมับ (temporal lobe) และคอร์ปัสแคลโลซุม(corpus callosum) ซึ่งเป็นกลุ่มเส้นใยประสาทที่เชื่อมสมองซีกซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน

2. โรคสมองเสื่อม หรือ “อัลไซเมอร์” เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า

3. โรคหลอดเลือดสมองตีบและหลอดเลือดสมองแตก เพิ่มมากขึ้นประมาณ15 % โดยทุก ๆ 10 μg/m3 ของระดับ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 13%

4. โรคพาร์กินสัน หรือปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวผิดปกติในผู้สูงอายุ พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 30%

5. อาการไมเกรนกำเริบ ในกลุ่มผู้มีอาการไมเกรนจะมีการปวดหัวที่รุนแรงขึ้นได้

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง | โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

โทร. 052 089 888  หรือ 1719