ภาวะ “ผมร่วง” หลังหายโควิด-19 - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

ภาวะ "ผมร่วง" หลังหายโควิด-19

 

           นอกเหนือจากการติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลแล้ว ผลกระทบที่ตามมาหลังหายป่วยก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบทางร่างกายเป็นเวลายาวนานหลังหายป่วย แม้จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและมีผลตรวจเป็นลบแล้วก็ตาม ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) ซึ่งมีหลายอาการที่แตกต่างกันไป และหนึ่งในอาการที่ตามมาหลังการติดเชื้อโควิด-19 ที่พบได้บ่อยคือ อาการ ผมร่วง ฉับพลัน หรือ โรคผมผลัด (Telogen Effluvium) โดยอาการ ผมร่วง ฉับพลันนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้ป่วยและผู้ที่หายป่วยแล้ว และมีอัตราการพบมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการ ผมร่วง ฉับพลันอาจใช้เวลามากถึง 12 เดือน กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

 

ลองโควิด-19 - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

อาการผมร่วงในผู้ป่วยโควิด-19 และ ผู้ที่หายป่วยแล้ว

  • ผมร่วงหลุดทั่วๆศีรษะแบบไม่มีรอยแผลเป็นโดยเฉพาะเวลาสระผม หรือ หวีผม อาการนี้อาจเกิดขึ้นหลังหายป่วยแล้ว 1-3 เดือน หรือบางรายอาจเกิดหลังหายป่วยได้นานถึง 6 เดือน
  • ผมร่วงมากกว่า 100 เส้น หรือ โดยประมาณ 300 เส้น แต่ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของผมทั้งศีรษะ
  • ผมบางลง โดยเฉพาะบริเวณขมับ
  • มีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น ขนบริเวณรักแร้

 

           แพทย์หญิงกุลวดี เหล่าสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ได้ให้ข้อมูลว่าอาการผมร่วงเหล่านี้มักพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และนอกเหนือจากอาการผมร่วงแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆทางผิวหนังตามมาด้วยเช่นกัน ได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวแห้งคัน หรือ ผื่นสะเก็ดเงินกำเริบ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือ ข้อสงสัย ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

รู้จักกับอาการผมร่วงฉับพลัน หรือ โรคผมผลัด (Telogen effluvium)

           แพทย์หญิงกุลวดี เหล่าสกุล ยังได้อธิบายสาเหตุของอาการผมร่วงฉับพลันว่า อาการเหล่านี้เกิดจากเส้นผมบางส่วนหยุดเจริญเติบโตและวงจรชีวิตเส้นผมเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ประกอบกับเกิดการอักเสบของระบบต่างๆภายในร่างกายและมีภาวะเครียดร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาและการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนระหว่างป่วย ทำให้เส้นผมเข้าสู่สภาวะพักตัวและร่วงหลุดไปในที่สุด

 

ภาวะ ผมร่วง ฉับพลัน - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

แนวทางการรักษา

           แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการรักษาโดยให้ผู้ป่วยทายาไมน็อกซิดิล (Minoxidii) เพื่อช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเส้นผม แต่ถ้าหากอาการผมร่วงไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 3 - 6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาเพิ่มเติม เช่น การใช้แสงเลเซอร์ระดับต่ำ (Low level laser therapy) ร่วมด้วย

 

คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

           ผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงเฉียบพลันไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เนื่องจากภาวะนี้เป็นอาการชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาการผมร่วงจะหายและมีเส้นผมงอกใหม่ ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 3-12 เดือน ทั้งนี้แพทย์หญิงกุลวดีได้ฝากคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวไว้ดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอและพยายามไม่เครียด
  • รับประทานธาตุเหล็กหรือวิตามินเสริม เช่น สังกะสี ไบโอติน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำให้ผมร่วง เช่น ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และ ยาไทรอยด์ แต่ทั้งนี้การจะงดใช้ยาบางชนิด ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

 

“แม้ว่าอาการผมร่วงฉับพลันจะเป็นอาการที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเข้มงวด ร่างกายของผู้ป่วยก็จะค่อยๆฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะปกติเช่นเดิม”

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก

แพทย์หญิงกุลวดี เหล่าสกุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง

ศูนย์รักษาลองโควิด |  โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

 

Reference:

Starace M., et al. JAAD Int. 2021 Dec; 5: 11–18.

Asghar F., et al. Cureus 12(5): e8320.

Tammaro A., et al. J Cosmet Dermatol. 2021;20:2378–2379.

Diotallevi F., et al. JEADV 2022, 36, e158–e247

Sharquie KE, et al. Ir J Med Sci. 2021 Aug 31;1-5.