มารู้จัก “เลือดออกในสมอง” ในสองนาที - โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

เลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage) ในที่นี้หมายถึง การที่มีเลือดออกในเนื้อสมองที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous intracerebral hemorrhage) ไม่นับเลือดออกในสมองที่เกิดจากการที่มีอุบัติเหตุที่ศีรษะ เลือดออกในสมองนี้เป็นภาวะที่พบได้บ่อยพอสมควร จากข้อมูลการศึกษาในหลายๆ สถาบัน พบว่าตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 รายต่อปีต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยพิการ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุ: ถ้าไม่นับอุบัติเหตุที่ศีรษะแล้ว เลือดออกในสมองส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีความเสื่อมสภาพของเส้นเลือดสมอง ทำให้เปราะและแตกได้ง่าย ดังนั้นจึงพบมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 40 ขึ้นไป การเปราะแตกของเส้นเลือดนี้ มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ก่อน ที่สำคัญคือ

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในหลอดเลือดสูง
  • การสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

อาการ: โดยทั่วไป อาการที่พบบ่อยคือ

  • แขนขาอ่อนแรง(ซึ่งมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง)
  • ปากเบี้ยว
  • หน้าเบี้ยว
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • อาเจียนพุ่ง
  • ถ้าเป็นมากอาจมีชัก ซึม หมดสติ โคม่า หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้

อาการที่เป็นลักษณะเด่นของผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมอง คือ “เฉียบพลัน” และ “รุนแรง” ที่ว่าเฉียบพลัน หมายถึง เป็นอย่างรวดเร็ว ในฉับพลันทันที เช่นกำลังอาบน้ำอยู่ ฉับพลันก็มีแขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะขึ้นมาทันที ที่ว่า รุนแรง หมายถึง อาการที่เป็น มักจะเป็นมาก เช่น เป็นอัมพาตไปเลย หมดสติ ปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การปฏิบัติตัวและการดูแลรักษา: ถ้าท่านหรือคนรู้จักมีอาการที่น่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันที โดยแผนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออกในสมอง ซึ่งประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง) จะเป็นผู้ประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกับญาติ การรักษาอาจต้องทำการผ่าตัดสมอง หรืออาจรักษาทางยา ร่วมกับรักษาโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ (เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ) ร่วมกับการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ(กายภาพบำบัด โภชนาการ ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าท่านเริ่มอายุมากขึ้น ท่านควรรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของท่านให้ดี ควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งแจ่มใส ออกกำลังกายตามความเหมาะสมของร่างกายแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดอุบัติการณ์ของเลือดออกในสมองแล้ว ยังช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคอื่นๆ ได้อีกมากมาย และทำให้สุขภาพของท่านแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจอีกด้วย

 

ด้วยความปรารถนาดี